โรคพื้นฐานที่ควรรู้เมื่อหมูข้อบวม

โรคพื้นฐานที่ควรรู้เมื่อหมูข้อบวม

น.สพ.ยุทธพล  เทียมสุวรรณ Technical Manager

M G PHARMA Co., Ltd.

        ในรอบปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 15 ปี แม้มีฝนมาบางช่วง แต่คนยังคงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เกษตรกรได้รับความเสียหาย จากการยืนต้นตายของพืชที่ขาดน้ำหล่อเลี้ยง รวมถึงต้องชะลอการเพาะปลูก ทำให้ในอนาคตอาจขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือมีราคาแพงมากขึ้น

        แต่อีกหนึ่งผลกระทบในปัจจุบัน ที่ยังไม่มีการกล่าวถึงกันมากนัก คือการขาดแคลนน้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุกร เป็นสัตว์ที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากในการเลี้ยง ทั้งน้ำดื่มกินเพื่อดำรงชีวิต และน้ำที่ใช้ในแง่จัดการเพื่อดำรงไว้ซึ่งสุขศาสตร์ และสภาพการเลี้ยงที่เหมาะสม อันได้แก่ น้ำหยด น้ำอาบ น้ำล้างพื้นคอก ส้วมน้ำ และน้ำที่ใช้ฉีดล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อช่วงพักคอก

        หากขาดแคลนน้ำแล้ว สุกรก็จะมีสุขภาพทรุดโทรมอ่อนแอจากการได้รับน้ำไม่เพียงพอ เครียดจากสภาพการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม และการหมักหมมของเชื้อโรคจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้สุกรเป็นโรค เจ็บป่วยด้วยอาการต่างๆ ง่ายยิ่งขึ้น

        ซึ่งอาการหนึ่งที่มักพบได้บ่อยคือ ข้อบวม โดยที่ส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเกิดจากเชื้อ สเตรปโตคอคคัส ซูอิส ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหามีเพียงแค่โรคนี้ไม่ ทำไมถึงยังไม่หาย ยังตายยังป่วยจากข้อบวมอยู่อีก มาหาคำตอบกันได้จากบทความนี้ครับ

        โรคที่ทุกคนต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก คงหนีไม่พ้นโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชูอิส (Streptococcus suis) แบคทีเรียแกรมบวกนี้ มักก่อให้เกิดอาการป่วยในช่วงอนุบาล และสุกรเล็ก พบมากช่วงเปลี่ยนฤดู หรือมีภาวะความเครียด หลังหย่านม ย้ายคอก รวมฝูง เปลี่ยนอาหาร รวมถึงผ่านแผลตัดเขี้ยวตัดหาง ซึ่งนอกจากข้อต่อบวมอักเสบ เดินขากระเผลก ไม่อยากลุกเดินแล้ว

        สุกรจะมีอาการไข้สูงมาก ซึม ตัวสั่น มักมีรอยโรคเยื่อหุ้นสมองอักเสบร่วมด้วย ทำให้สุกรแสดงอาการทางระบบประสาท จึงเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน นอนตะแคง ชักเหยียดเกร็งตะกุยเท้า เป็นอัมพาด และกรณีเฉียบพลันรุนแรงจะมีอัตราการตายเกือบ 100% ในตัวที่อ้วนสมบูรณ์ ไม่มีอาการป่วยให้เห็น  ทั้งยังอาจพบภาวะโลหิตเป็นพิษ ลิ้นหัวใจอักเสบ และแท้งลูกได้ด้วย นอกจากรอยโรคที่ไม่ค่อยจำเพาะมากนัก ควรตรวจยืนยันย้อมสีแกรม หรือเพาะแยกพิสูจน์เชื้อจากน้ำในข้อต่อ และเยื่อหุ้มสมอง

        ยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้ผลดีได้แก่ อะม็อกซิซิลลิน และกลุ่มเซฟาโรสปอริน เช่น Ceftiofur, Ceftriazone เป็นต้น การระบาดของโรคนี้สะท้อนให้เห็นถึงสุขศาสตร์การจัดการ อันกักเก็บ และเอื้อให้เชื้อวนเวียนเพิ่มจำนวนอยู่ในฟาร์ม

        อีกโรคที่ท้าให้เกิดข้อบวม โดยมีลักษณะอาการป่วย รอยโรคภายนอกคล้ายคลึงกันมาก จนสร้างความสับสนในการวินิจฉัยได้บ่อยๆ คือ แกลสเซอร์ (Glasser’s disease) อันมีสาเหตุจากแบคทีเรียแกรมลบ Haemophilus parasuis ที่ติดผ่านทางการหายใจ พบมากในสุกรช่วงอนุบาล และสุกรเล็ก โดยมีปัจจัยโน้มนำเช่นเดียวกัน

        นอกจากอาการข้อต่อบวมอักเสบ เดินขาเจ็บกระเผลกแล้วสุกรยังมีไข้สูง และมีอาการทางประสาท สั่นกระตุก นอนตะแคง ชักตะกายเท้า อัมพาตจากภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่นเดียวกับเมื่อติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชูอิส

        ส่วนอาการสำคัญที่ใช้ในการวินิจฉัยแยกแยะโรคนี้คือ อาการระบบทางเดินหายใจ สุกรจะไอ หายใจลำบาก ยึดคอ อ้าปาก ใช้ช่องท้องช่วยหายใจ ผิวหนังม่วงคล้ำ บวมน้ำ และมีรอยโรคสำคัญ อันเกิดจากการอักเสบของเยื่อเลื่อมบุช่องโพรงร่างกายคือ เยื่อบุช่องอก ช่องท้อง เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มปอด ถุงหุ้มหัวใจ และอวัยวะภายในอักเสบมีไฟบริน หนอง มีของเหลวขุ่นสีเทาเหลืองสะสม เกิดเยื่อเหนียวเป็นแผ่นหนองยึดติดกันจนแน่น แยกไม่ออก

        การรักษาจะให้ผลดีในช่วงแรกๆ ด้วยยาปฏิชีวนะเช่น อะม็อกซีซิลลิน สเตรปโตมัยซิน กลุ่มเซฟาโรสปอริน กลุ่มเตตร้าซัยคลิน หรืออาจป้องกันด้วยการใช้วัคซีน อัตราการตายสูงไม่มากนัก หากเรื้อรังจะไม่เจริญเติบโต ขนหยาบ น้ำหนักลด

        หากสุกรมีอาการ และรอยโรคคล้ายคลึงแกลสเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นข้อบวม และเยื่อเสื่อมทั่วไปอักเสบแบบมีไฟบริน ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่มีอาการร่วมเพียงแค่ไข้ต่ำไอ ป่วยไม่เฉียบพลันรุนแรงเท่า เป็นแต่แบบเรื้อรัง มีอัตราการป่วยการตายต่ำมากนั้น อาจเกิดจากโรคติดเชื้อมัยโคพลาสมาอีกชนิดหนึ่ง ที่มิใช่ชนิด hyopneumoniae ตามที่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน

        แต่หากเป็นเชื้อ Mycoplasma hyorhinis (M. hyorhinis) ที่ติดต่อผ่านทางการหายใจ มักแสดงอาการป่วยในช่วงอนุบาล และเล็กรุ่นเช่นเดียวกัน

        นอกจากที่กล่าวมายังอาจวินิจฉัยแยกแยะโรคนี้ได้จากน้ำในข้อต่อที่มีลักษณะปนเลือดจำนวนมาก และที่สำคัญโรคนี้จะไม่มีวิการรอยโรคที่เยื่อหุ้มสมอง สุกรจึงไม่ป่วยแสดงอาการทางระบบประสาทใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งถือว่าแตกต่างจากแกลสเซอร์อย่างสิ้นเชิง เชื้อค่อนข้างมีความไวต่อยาปฏิชีวนะลินโคมัยซิน ไทโลซิน ไทอามูลิน และกลุ่มควิโนโลน รักษาหลังแสดงอาการไปแล้ว อาจได้ผลไม่ดีนัก

        มัยโคพลาสมาที่ก่อให้เกิดอาการข้อบวมในสุกร ไม่ได้มีแค่ชนิด hyorhinis เท่านั้นการวินิจฉัยแยกแยะต้องคำนึงถึงอีกเชื้อที่คู่กันคือ Mycoplasma hyosynoviae (M. hyosynoviae) ที่มีรายงานว่าเป็นสาเหตุให้ข้อต่อบวมอักเสบในสุกรได้บ่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะในสุกรขุนอายุตั้งแต่ 3-4 เดือน หรือน้ำหนัก 35-50 กก. ขึ้นไป สุกรที่ป่วยจะมีอุณหภูมิปกติ หรือมีเพียงแค่ไข้ต่ำๆ โดยไม่มีอาการไอ หรือทางเดินหายใจอื่นๆ แต่อย่างใด

        นอกจากเชื้อนี้จะไม่ก่อให้เกิดวิการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองจึงไม่มีอาการป่วยทางระบบประสาทแล้ว ที่สำคัญรอยโรคการอักเสบของเยื่อเลื่อมบุช่องโพรงร่างกาย ก็จะไม่พบเกิดขึ้นในโรคนี้โดยเด็ดขาด สุกรจะแสดงอาการเจ็บปวดที่ไม่รุนแรงนัก เพียงเดินขากระเผลกไม่อยากลุกเดิน อาการบวมอาจไม่ชัดเจน รอยโรคที่ข้อต่อมีเพียงแค่บวมน้ำ คั่งเลือด อักเสบแบบมีไฟบรินสีเหลืองเทาปนเลือดเล็กน้อย อัตราการป่วยต่ำมาก และมักหายเป็นปกติได้เองภายในเวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ รักษาด้วยยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกับ M. hyorhinis

        โรคสุดท้ายที่อาจก่อเกิดอาการข้อบวมได้ด้วยคือ ไข้หนังแดง หรือ Erysipelas อันเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก Erysipelothrix rhusiopathiae ที่ได้รับผ่านการกิน หรือแผลที่ผิวหนัง พบโรคได้ในสุกรทุกช่วง โดยเฉพาะในสุกรพันธุ์ ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ลักษณะข้อต่อแข็ง บวมอักเสบ เดินขากระเผลก มีอาการเจ็บปวดนั้น มักเกิดขึ้นในช่วงท้าย ที่โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะเรื้อรังแล้ว โดยในระยะแรกหากเกิดโรคแบบเฉียบพลัน จะมีอาการโลหิตเป็นพิษ ผิวหนังมีสีแดงเขียวคล้ำ ไข้สูงมาก ท้องเสีย ท้องผูก ตายอย่างรวดเร็ว หากกึ่งเฉียบพลันจะแสดงวิการรอยโรคที่เด่นชัด ง่ายต่อการวินิจฉัยคือ

        ผิวหนังเกิดเป็นแผ่นปื้นนูนสีแดงม่วง คล้ายลมพิษ เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือหลายเหลี่ยมคล้ายเพชรที่เรียกว่า Diamond shaped กระจายทั่วตัว แม่พันธุ์อาจพบการแท้ง ในระยะเรื้อรังที่เชื้อเข้าสู่ข้อต่อแล้ว อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ ลิ้นหัวใจเกิดการอักเสบแบบงอกขยายคล้ายดอกกะหล่ำ นำไปสู่ภาวะหัวใจวาย

        โรคนี้วินิจฉัยแยกแยะจากโรคอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วค่อนข้างง่ายได้แก่ข้อต่อบวมอักเสบแบบไม่มีหนอง ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า ทั้งยังไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไม่มีอาการทางระบบประสาท และไม่มีวิการรอยโรคที่เยื่อเลื่อมบุช่องโพรงร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น อัตราการตายในระยะเรื้อรังนี้ต่ำมาก แนะนำรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพนนิซิลลิน อะม็อกซิชิน กลุ่มเซฟาโรสปอริน กลุ่มเตตร้าชัยคลิน และควรควบคุมป้องกันโรคด้วยการใช้วัคซีน

        นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น เช่น Staphylococcus spp., Corynebacterium pyogenes, Brucella suis และแม้กระทั่ง E.coli ก็สามารถก่อโรคให้เกิดอาการข้อบวมในสุกรได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยการเพาะแยกยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ โดยสรุปการจะรักษา หรือควบคุมป้องกันมิให้เกิดอาการข้อบวมในสุกรนั้น จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกแยะหาสาเหตุของโรคที่ถูกต้องให้ได้เสียก่อน ยืดหลักจากความรุนแรงของอาการข้อบวมที่พบเห็น พิจารณาให้สอดคล้องกับช่วงอายุสุกรที่มักเกิดโรค รวมถึงอาการใช้อาการระบบทางเดินหายใจ อาการทางระบบประสาท ผลการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา

        จากนั้นควรพิจารณาต่อเนื่องด้วยการผ่าชันสูตรซาก วิการรอยโรคสำคัญภายในที่จำเป็นต้องใช้ประกอบช่วยชี้เฉพาะคือ การอักเสบของเยื่อเลื่อมบุช่องโพรงร่างกาย  และเยื่อหุ้มสมองที่มีไฟบรินสีเหลืองเทา ยืดติดกันเป็นเส้นใยหรือเป็นแผ่นแน่นเหนียว โดยอาจต้องดูบริบทอาการป่วยทางคลินิกอื่นๆ รวมของทั้งฝูงประกอบด้วย ทว่าหากยังซับซ้อน สับสน มึนงง หรือนอกเหนือไปจากความรู้ในบทความนี้ แนะนำให้ส่งวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ไม่ว่าจะแล้งนี้ แล้งไหนน้ำจะแห้งเหือดไปอีกสักเท่าใด ขอแค่มีน้ำใจ เข้าใจ และใส่ใจในสุขภาพหมูของท่านข้อบวมก็คงเป็นแค่ฝุ่นผงที่ปลิวหายไปกับสายลม

       

ที่มา : นิตยสารโลกสุกร ปีที่ 14 ฉบับที่ 155 เดือนพฤศจิกายน 2558

Visitors: 448,358